ประวัติศาสตร์การจูนเสียง

หากใครเคยใช้เครื่องจูนเนอร์ (Tuner) คงจะเคยเห็นตัวเลขที่เขียนว่า 440Hz ซึ่งเชื่อว่ามีหลายคนที่ยังไม่เข้าใจว่าตัวเลขนี้หมายถึงอะไร แล้วทำไมต้องเป็น 440Hz บทความนี้จึงอยากพาผู้อ่านไปค้นหาความหมายของตัวเลข รวมถึงย้อนกลับไปสำรวจวิวัฒนาการของ ‘การจูนเสียง’
.
440Hz เป็นตัวเลขที่ย่อมาจาก A440 หรือ A4=440Hz โดย A4 คือโน้ตที่มีตำแหน่งอยู่เหนือโน้ต C4 (Middle C) ส่วน เฮิรตซ์ (Hz) คือหน่วยความถี่รอบต่อวินาที ‘ซึ่งหากความถี่สูง เสียงก็จะสูง หากความถี่ต่ำ เสียงก็จะต่ำ’ ด้วยเหตุนี้ A4=440Hz จึงมีความหมายว่า ‘โน้ต A4 ต้องมีความถี่เท่ากับ 440Hz’ ซึ่งสิ่งนี้ทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์กลางในการจูนเสียง และมีผลให้โน้ตตัวอื่นมีค่าความถี่โดยยึดตาม A4=440Hz เป็นหลัก
.
แน่นอนว่าหาก A4 ไม่ได้มีความถี่เท่ากับ 440Hz ความถี่ของโน้ตทุกตัวก็จะแปรเปลี่ยนไปตามความถี่นั้นๆ ทั้งหมดนี้คือที่มาของตัวเลข 440Hz ทำให้เมื่อเราเห็นตัวเลขนี้ปรากฏบนจูนเนอร์ จึงเป็นการบ่งบอกว่า ‘คุณกำลังตั้งสายบนความถี่ใด’ โดยในปัจจุบัน 440Hz ถูกกำหนดเป็นมาตรฐานระดับเสียง (Standard Pitch) ทำให้ดนตรีส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักเล่นโดยเครื่องดนตรีที่จูนด้วย 440Hz และเพื่อความสะดวกในการตั้งสาย เครื่องจูนเนอร์ในปัจจุบันจึงถูกตั้งค่าความถี่เริ่มต้นไว้ที่ 440Hz เสมอ
.
‘แล้วทำไมต้องเป็น 440Hz?’ คำถามนี้สามารถตอบได้ด้วยการย้อนกลับไปยังเส้นทางประวัติศาสตร์ของการจูนเสียง ซึ่งกว่าที่ผู้คนจะมาบรรจบกันในตัวเลข 440Hz โลกฝั่งดนตรีตะวันตกต้องผ่านการถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน และมีการเปลี่ยนแปลงความถี่มาแล้วหลายครั้ง
.
ศตวรรษที่ 18 บาโรก และคลาสสิก
.
แม้ว่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โน้ต A4 จะถูกกำหนดให้เป็นโน้ตตั้งต้นในการจูนเสียง แต่การยังไม่เกิดขึ้นของหน่วยวัดรอบต่อวินาที (Hz) ทำให้ผู้คนในเวลานั้นยังไม่สามารถวัดระดับเสียงได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ยังไม่สามารถสร้างมาตรฐานการจูนเสียงขึ้นมาได้อย่างจริงจัง และส่งผลต่อไปยังอุปกรณ์ช่วยจูนเสียงในเวลานั้นอย่าง ส้อมเสียง (Tuning Forks) ที่ถูกผลิตออกมาด้วยความถี่ A4 แตกต่างกัน
.
ภายหลังได้มีการวัดส้อมเสียงด้วยหน่วยวัดความถี่ Hz พบว่าส้อมเสียงส่วนใหญ่ให้เสียงโน้ต A4 ตั้งแต่ 400Hz จนถึง 480Hz ด้วยเหตุนี้ จึงมีประโยคที่กล่าวว่า ‘หากคุณเดินทางไปฟังดนตรีในคริสตจักรแห่งหนึ่ง และเดินทางต่อไปยังคริสตจักรอีกแห่งหนึ่ง มีความเป็นไปได้ที่คุณจะพบว่าทั้งสองแห่ง จูนเสียงเครื่องดนตรีไม่เหมือนกัน’ หรือแม้แต่ในคริสตจักรแห่งเดียวกัน ก็อาจจะจูนเสียงไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับเหล่านักประพันธ์ในเวลานั้น ที่ต่างคนต่างจูนเสียงวงดนตรีด้วยความถี่ตามส้อมเสียงที่ตัวเองมี
.
ส้อมเสียงของแฮนเดิล (Handel) มีความถี่ 422.5Hz ส้อมเสียงของโมสาร์ท (Mozart) มีความถี่ 421.6Hz หรือของเบโทเฟน (Beethoven) อยู่ที่ 455.4Hz นอกจากเรื่องของการจูนเสียงที่ต่างกันแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การจูนเสียงที่สูงขึ้นเรื่อยๆของวงออร์เคสตรา ซึ่งเกิดจากการที่ยังไม่มีค่าความถี่กลาง ผู้ควบคุมวงจึงจูนเสียงสูงขึ้นไปเรื่อยๆโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสร้างความลำบากให้กับนักดนตรีเครื่องเป่า รวมถึงเหล่านักร้องที่ต้องตะเบ็งคอร้องจนบาดเจ็บ
.
ศตวรรษที่ 19 ค่าความถี่กลาง 440Hz, 435Hz และ 432Hz
.
ปี 1830 นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ไฮน์ริทซ์ เฮิรตซ์ (Heinrich Rudolf Hertz) สามารถทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของแมกซ์เวลล์ได้สำเร็จ คุณูปการนี้ต่อยอดไปสู่ความสามารถในการวัดคลื่นเสียง หรือในทางดนตรีเรียกว่า ระดับเสียง (Pitch) หลังจากนั้นเราจึงสามารถวัดระดับเสียงได้อย่างแม่นยำด้วยหน่วยวัดความถี่ Hz
.
ปี 1834 โยฮันน์ ไชบ์เลอร์ (Johann Scheibler) ให้กำเนิดเครื่องวัดระดับเสียง โทโนมิเตอร์ (Tonometer) โดยเป็นการนำเอาส้อมเสียงที่มีความถี่แตกต่างกัน 54 ชิ้น มาเรียงรวมกัน ซึ่งไม่มีใครทราบว่าทำไม ไชบ์เลอร์ถึงเลือกใช้ส้อมเสียงอันแรกที่ 220Hz และอันสุดท้ายที่ 440Hz แต่ในปีเดียวกัน ได้มีการจัดประชุมขึ้นที่เมืองสตุตการ์ท โดยหารือเกี่ยวกับการหาค่าความถี่กลาง และได้ข้อสรุปว่า 440Hz ถูกประกาศให้เป็นค่าความถี่กลาง ซึ่งตัวเลขนี้ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ Stuttgart Pitch โดยการประกาศในครั้งนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก แต่ถือเป็นครั้งแรกๆที่ทำให้ผู้คนเริ่มพูดถึงตัวเลข 440Hz
.
ปี 1859 ฝรั่งเศสประกาศกฎหมาย Diapason Normal ซึ่งว่าด้วยการกำหนดให้ 435Hz เป็นค่าความถี่กลาง โดยตัวเลขนี้ได้รับการสนับสนุนโดยเหล่านักประพันธ์ อาทิ รอสซินี (Gioachino Rossini) โดย 435Hz หรือต่อมารู้จักกันในชื่อ French Standard กลายเป็นที่ยอมรับในระดับสากล หลากหลายประเทศในยุโรปเริ่มหันมาใช้ความถี่ตามฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะพอใจกับความถี่ดังกล่าว โดยเฉพาะในดินแดนแห่งโอเปราอย่างอิตาลี
.
นักร้องโอเปราต่างพากันคัดค้านความถี่ของฝรั่งเศส เนื่องจากมองว่า 435Hz เป็นความถี่ที่สูงเกินไป ทำให้ร้องลำบาก โดยท่ามกลางการถกเถียงเพื่อหาความถี่ที่เหมาะสม ได้มีนักประพันธ์โอเปราคนหนึ่ง เสนอทางออกโดยแนะนำให้ผู้คนหันมาใช้ความถี่ 432Hz ซึ่งต่อมาความถี่นี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Verdi’s A และผู้สนับสนุนความถี่นี้คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก จูเซปเป แวร์ดี (Guiseppe Verdi)
.
แวร์ดีเขียนจดหมายส่งไปยังคณะกรรมาธิการดนตรีแห่งอิตาลีตั้งแต่ปี 1880 เพื่อแนะนำให้อิตาลีเปลี่ยนมาใช้ 432Hz แวร์ดีมองว่าตัวเลขนี้เหมาะสมที่สุดแล้ว ทั้งในด้านการรักษาเสียงของนักร้อง รวมถึงยังเป็นการประนีประนอมต่อ 435Hz ของฝรั่งเศส แต่ท้ายที่สุดแล้ว คณะกรรมาธิการดนตรีแห่งอิตาลี กลับประกาศให้ 440Hz เป็นความถี่มาตรฐานแทน
.
ศตวรรษที่ 20 อเมริกา และ 440Hz
.
ต้นศตวรรษที่ 20 สหรัฐอเมริกาเริ่มมีบทบาทในสังคมโลกมากขึ้น รวมถึงเรื่องดนตรีด้วยเช่นกัน อเมริกาถือเป็นประเทศที่ส่งออกเครื่องดนตรีจำนวนมาก และการรับอิทธิพลการจูนเสียงมาจากอิตาลี ทำให้เครื่องดนตรีที่ถูกส่งออกไปทั่วโลก ถูกออกแบบมาให้สามารถจูนเสียงในความถี่ 440Hz ได้อย่างไม่มีปัญหา
.
ผนวกกับในตลอดช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีหลายเหตุการณ์ที่ผู้คนเริ่มเห็นตรงกันว่า 440Hz เหมาะจะเป็นความถี่กลางมากที่สุด เริ่มจากในปี 1919 หรือหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มีบทบัญญัติมากมายถูกบรรจุลงในสนธิสัญญาแวร์ซาย หนึ่งในนั้นคือการกำหนดให้ 440Hz เป็นความถี่มาตรฐาน เช่นเดียวกับในปี 1939 มีการประชุมระดับนานาชาติในลอนดอน ได้มีการสนับสนุนให้ 440Hz เป็นค่าความถี่มาตรฐาน
.
บทสรุปได้มาจบลงในปี 1955 เมื่อองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ประกาศให้ 440Hz เป็นความถี่มาตรฐาน (Standard Pitch) พร้อมกับร่างข้อกำหนด ISO-16 ออกมาในปี 1975 จึงทำให้ผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนมาใช้ความถี่ 440Hz อย่างเป็นทางการ
.
432Hz และทฤษฎีสมคบคิด
.
หากเปิด Google แล้วพิมพ์คำว่า 432Hz จะพบบทเพลงมากมาย ถูกปรับระดับเสียงให้มีความถี่ 432Hz พร้อมกับคอมเมนต์ใต้คลิปที่กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ‘เพลงที่ปรับเป็น 432Hz ฟังสบายกว่า เพราะกว่า’ แน่นอนว่าการฟังเพลงในความถี่ 432Hz ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก หากฟังแล้วรู้สึกดี ผ่อนคลาย สบายใจกว่า 440Hz ก็ถือเป็นประโยชน์ของผู้ฟัง
.
แต่เรื่องราวบนโลกอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับ 432Hz ส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับทฤษฎีสมคบคิดมากมาย เช่น การฟังคลื่นเสียง 342Hz ช่วยสร้างอารมณ์ด้านบวก ช่วยทำให้จิตใจสงบ หรือไปจนถึงช่วยรักษาโรค ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้มักจบลงด้วยการสร้างความน่าเชื่อถือ ด้วยการอ้างอิงวิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscience) หรือข้อมูลที่ไม่ได้อยู่บนหลักวิทยาศาสตร์ แต่ใช้สิ่งที่คล้ายวิทยาศาสตร์มาอธิบายแทน
.
การจูนเสียง และอนาคต
.
แม้ดนตรีในปัจจุบันจะถูกเล่นโดยเครื่องดนตรีที่จูนด้วย 440Hz แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เราเห็นว่า วิวัฒนาการของดนตรีไม่เคยหยุดนิ่ง จากส้อมเสียงมาสู่จูนเนอร์ดิจิทัล จาก 435Hz มาสู่ 440Hz ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจจะได้เห็นค่าความถี่เกิดขึ้นใหม่ หรือไปจนถึงการมีวิธีจูนเสียงรูปแบบใหม่ก็เป็นได้
.
Writer : Literary Boy
.
อ้างอิง :
.
[1] https://capionlarsen.com/history-pitch
[2] https://www.izotope.com/.../tuning-standards-explained.html
[3] https://emastered.com/blog/432-hz-tuning-standard
[4] https://primesound.org/432-vs-440