Giulio Regondi ผู้พาเพลงกีตาร์เข้าสู่ยุคโรแมนติกตอนปลาย

‘หากจะเล่นได้เหมือนเด็กคนนี้ อาจต้องใช้เวลาฝึกฝนถึง 20 ปี’ ประโยคข้างต้นอาจสามารถสะท้อนถึงความมหัศจรรย์ตั้งแต่วัยเยาว์ของนักกีตาร์ในบทความวันนี้ โดยทักษะการบรรเลงกีตาร์ที่เก่งกาจเกินวัยของเขาถึงขนาดทำให้ เฟอร์นานโด ซอร์ (Fernando Sor) ต้องแต่งเพลงมอบให้ เหล่านี้คือเรื่องราวของ ‘จูลิโอ เรกอนดี’ (Giulio Regondi, 1822-1872)
.
ข้อมูลจากหลายแหล่งกล่าวถึงสถานที่เกิดของเรกอนดีแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่แล้ว ‘ลียง’ (ฝรั่งเศส) และ ‘เจนีวา’ (สวิตเซอร์แลนด์) มักเป็นสองเมืองที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด ชีวิตของเรกอนดีพลิกผันทันทีตั้งแต่ลืมตาดูโลกในปี 1822 เมื่อผู้เป็นแม่ชาวเยอรมันเสียชีวิตในขณะคลอด ส่วนพ่อผู้เลี้ยงดูชาวอิตาลีกลับมีการสันนิษฐานว่าอาจไม่ใช่พ่อแท้ๆ แต่อาจเป็นคนที่เข้ามาสวมรอยเป็นผู้ปกครองแทน
.
สำหรับฝีมือการเล่นกีตาร์ที่เก่งกาจเกินวัยของเรกอนดี ไม่ได้มาจากพรสวรรค์ที่ปราศจากการฝึกฝน แต่มาจากตารางการฝึกซ้อมอันสุดหฤโหดจากผู้เป็นพ่อ โดยเด็กน้อยจะถูกขังให้อยู่ในห้องที่มีเพียงกีตาร์กับบทฝึกเอทูต ซึ่งต้องซ้อมอย่างน้อยวันละ 5 ชั่วโมง และจะมีเพื่อนบ้านที่ถูกจ้างมาสอดส่องการฝึกซ้อมอยู่ตลอดเวลา เมื่อผนวกการเคี่ยวกรำอย่างหนักกับการถูกผลักดันให้ออกแสดงดนตรีตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ทำให้การบรรเลงกีตาร์ของเรกอนดีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เมื่อทุกอย่างสุกงอม ผู้เป็นพ่อจึงพาเด็กน้อยออกตระเวนแสดงดนตรีตามราชสำนักทั่วยุโรป
.
ชื่อเสียงของเรกอนดีโด่งดังทันทีในฐานะเด็กมหัศจรรย์ การแสดงของเขาไม่เคยเผยให้เห็นถึงความประหม่า สิ่งที่เห็นคือภาพของเด็กคนหนึ่งกำลังบรรเลงกีตาร์ด้วยความสง่างาม และสุขุมราวกับนักดนตรีรุ่นใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน เมื่อรวมความเจนจบของการแสดงเข้ากับรูปร่างหน้าตาที่สะโอดสะอง ทำให้เรกอนดีเป็นที่ชื่นชอบในหมู่นักวิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกาะอังกฤษ ที่ซึ่งเรกอนดีและพ่อได้มาตั้งรกรากในปี 1831
.
การลงหลักปักฐานในเกาะอังกฤษ ทำให้เรกอนดีในวัย 9 ขวบได้พบกับบรรดานักดนตรีชื่อดังมากมาย อาทิ นิกโกโล ปากานีนี (Niccolò Paganini) โดยยอดนักไวโอลินถึงกับเอ่ยปากชมถึงความเจนจบของเด็กคนนี้ หรือแม้แต่การเจอกับ เฟอร์นานโด ซอร์ (Fernando Sor) ซึ่งการบรรเลงของเรกอนดี ได้สร้างความประทับใจถึงกับทำให้ยอดนักกีตาร์ชาวสเปน ต้องมอบบทประพันธ์ Fantasia Souvenir d’Amitie, Op.46 เพื่อเป็นการอุทิศให้กับความมหัศจรรย์ของเด็กชายวัย 9 ขวบคนนี้
.
แต่เมื่อทุกอย่างกำลังจะไปได้สวย ชีวิตของเรกอนดีก็พลิกผันอีกครั้ง เมื่อผู้เป็นพ่อได้หอบเงินที่ได้จากการตระเวนแสดงดนตรีจำนวน 2,000 ปอนด์หนีไป และทิ้งเรกอนดีในวัย 15 ปีไว้กับเงินติดตัวเพียง 5 ปอนด์ เหตุการณ์นี้อาจเป็นการเฉลยปมถึงการสวมรอยเป็นพ่อ ว่าแท้จริงแล้วชายคนนี้เข้ามาเลี้ยงดูเรกอนดีเพราะความเมตตา หรือเข้ามาเพียงเพราะผลประโยชน์จากพรสวรรค์ของเด็ก
.
เมื่อไร้ที่พึ่งทั้งทางกายและใจ ความสิ้นหวังจึงเข้าถาโถมเด็กหนุ่มวัย 15 ปีอย่างหนักหน่วง แต่ยังถือเป็นความโชคดีที่เขาได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนนักดนตรีรอบข้าง ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว เรกอนดีสามารถกลับสู่เส้นทางนักกีตาร์ได้อีกครั้ง และก้าวข้ามบาดแผลทางใจที่เกิดจากผู้เป็นพ่อได้สำเร็จ เรกอนดีนำความขมขื่นในชีวิตมากลั่นกรองเป็นบทเพลงกีตาร์ที่มีทั้งความไพเราะ ซับซ้อน และลึกซึ้ง ซึ่งส่งผลให้บทบาทในฐานะนักประพันธ์ของเรกอนดี ประสบความสำเร็จเฉกเช่นเดียวกับในฐานะนักแสดงดนตรี และหากสำรวจลงไปในงานเพลง จะพบอีกหนึ่งคุณูปการที่เขาได้สร้างไว้นั่นคือ การนำอิทธิพลดนตรียุคโรแมนติกตอนปลายเข้ามาอยู่ในงานเพลงกีตาร์
.
โดยหากย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 19 หรือตรงกับดนตรียุคโรแมนติก (Romantic Period) นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มักแบ่งดนตรียุคนี้ออกเป็นสองส่วน ได้แก่ ‘โรแมนติกตอนต้น’ ประมาณปี 1800-1850 กับ ‘โรแมนติกตอนปลาย’ ประมาณปี 1850-1900 ซึ่งความแตกต่างระหว่างสองช่วงเวลานี้คือ งานเพลงในยุคโรแมนติกตอนต้น จะยังคงมีกลิ่นอายของความเป็นดนตรียุคคลาสสิก (Classic Period) โดยมาจากอิทธิพลดนตรีของเหล่าคีตกวี อาทิ โมสาร์ท ไฮเดิน ส่วนงานเพลงในยุคโรแมนติกตอนปลาย สไตล์ดนตรีจะเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยมีเหล่าผู้นำทางดนตรี อาทิ เมนเดลโซน ชูเบิร์ต โชแปง ลิสท์ และมีเปียโนเป็นเครื่องดนตรีชูโรง
.
ซึ่งเรกอนดีถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกที่นำเอาสไตล์ดนตรีโรแมนติกตอนปลาย เข้ามาอยู่ในงานเพลงกีตาร์ ซึ่งนอกจากเรกอนดีแล้วก็ยังมีนักกีตาร์คนอื่นๆอีกเช่นกัน อาทิ โยฮันน์ คาสปาร์ เมิร์ตซ์ (Johann Kaspar Mertz, 1806-1856) ซึ่งเป็นหนึ่งในนักกีตาร์ที่เราเคยเขียนบทความชีวประวัติไปแล้ว ซึ่งหากย้อนกลับไปในบทความของเมิร์ตซ์ จะพบว่าหนึ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคโรแมนติกตอนปลายคือ กระแสความนิยมของกีตาร์ที่ลดลง ซึ่งสภาวะดังกล่าวส่งผลให้ชีวิตของเมิร์ตซ์เข้าสู่ความยากลำบากทันที
.
และแน่นอนว่าสภาวะดังกล่าวได้เกิดกับเรกอนดีด้วยเช่นกัน เมื่อความนิยมของกีตาร์ลดลงในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 เรกอนดีจึงเริ่มหันไปสนใจเครื่องดนตรีชิ้นอื่น โดยเฉพาะเครื่องดนตรีที่พึ่งถูกคิดค้นขึ้นมาในเวลานั้นอย่าง คอนเซอตินา (Concertina) เครื่องดนตรีที่มีหน้าตาคล้ายกับหีบเพลง (Accordion) แต่จะมีขนาดเล็กกว่า เรกอนดีศึกษาและฝึกฝนอย่างจริงจัง จนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอนเซอตินาแห่งศตวรรษที่ 19
.
ช่วงบั้นปลายชีวิต แม้เรกอนดีจะมีงานเพลงกีตาร์ที่เขียนไว้จำนวนหนึ่ง แต่ด้วยกระแสที่ซบเซาของกีตาร์ ทำให้เขาเลือกที่จะไม่เผยแพร่และเก็บผลงานเหล่านั้นเอาไว้ จนกระทั่งในวันที่ 6 พฤษภาคม ปี 1872 เรกอนดีจากไปด้วยวัย 49 ปี หลังจากต่อสู้กับความเจ็บปวดจากโรคมะเร็งมาเป็นเวลานาน และเรื่องราวชีวิตกับผลงานเพลงของเขาก็เริ่มเลือนหายไปจากสังคม
.
เมื่อผนวกกับจำนวนงานประพันธ์ที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับนักกีตาร์คนอื่นๆ ทำให้ชื่อของเรกอนดี มักไม่เป็นที่กล่าวถึงในเชิงประวัติศาสตร์มากนัก แต่ทว่าขนาดไม่ค่อยมีใครสนใจเรื่องราวของเขา งานเพลงกีตาร์จำนวนเพียงหยิบมือของเรกอนดี อาทิ Nocturne 'Rêverie' Op. 19 หรือ Introduction & Caprice, Op. 23 กลับโด่งดังและเป็นที่ชื่นชอบในหมู่นักกีตาร์คลาสสิก
.
จนกระทั่งในปี 1980 หรือ 108 ปีหลังการเสียชีวิตของเรกอนดี มาทันยา โอฟี (Matanya Ophee) นักกีตาร์และนักดนตรีวิทยา ได้ค้นพบผลงานของเรกอนดีที่ไม่เคยถูกเผยแพร่มาก่อนนั่นคือ บทฝึกเอทูตทั้ง 10 ชิ้น (Ten Études) บทฝึกที่มีทั้งความไพเราะ รวดเร็ว ท้าทาย และหลังจากได้รับการเผยแพร่ในปี 1990 งานชุดนี้ก็ได้รับความนิยมและเป็นที่หมายปองของเหล่านักกีตาร์คลาสสิก ซึ่งต่างพากันหยิบยกไปบรรเลงในคอนเสิร์ต รวมถึงนำไปบันทึกเสียงเป็นอัลบั้ม
.
แม้เรื่องราวชีวิตของเรกอนดีอาจจะไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก แต่ความไพเราะของงานเพลงและความกล้าหาญในการนำสไตล์ดนตรีที่มีความก้าวหน้าในยุคนั้น มาประพันธ์และบรรเลงบนกีตาร์ ถือเป็นก้าวสำคัญที่พางานเพลงกีตาร์ เข้าสู่พรมแดนของโรแมนติกตอนปลายโดยสมบูรณ์ และทำให้ชื่อของ จูลิโอ เรกอนดี คู่ควรแก่การเป็นหนึ่งในนักกีตาร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษที่ 19
.
Writer : Literary Boy