ชวนอ่านชื่อเพลงคลาสสิก (ฉบับเบื้องต้น)สำรวจความหมายของคำต่างๆที่อยู่ในชื่อเพลงคลาสสิก

ปัจจุบันเรามักคุ้นชินกับชื่อเพลงที่มีความเรียบง่าย จดจำง่าย หรือบ่งบอกถึงเนื้อหาเพลงอย่างชัดเจน ซึ่งดูจะสวนทางกับชื่อเพลงคลาสสิกจำนวนหนึ่ง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราอยากฟังเพลงคลาสสิกสักเพลงในยูทูบ สิ่งที่เราต้องรู้อาจไม่ใช่เนื้อร้องติดหูอย่าง Super Shy หรือ I'm a Barbie Girl แต่เราจำเป็นต้องรู้ว่าเพลงดังกล่าวเป็นบทประพันธ์ประเภทใด โอปุสไหน หมายเลขอะไร หรือไปจนถึงมูฟเมนต์ที่เท่าไหร่ บทความในวันนี้จึงอยากพาผู้อ่านไปสำรวจคำต่างๆที่อยู่ในชื่อเพลงคลาสสิก แต่ละคำมีความหมายว่าอย่างไร
.
ประเภทบทประพันธ์ (Composition Type)
.
ส่วนแรกของชื่อเพลงมักเริ่มต้นด้วยประเภทบทประพันธ์ ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงสไตล์ดนตรีที่มีกรอบธรรมเนียมการประพันธ์ชัดเจน เช่น Symphony, Prelude, Fugue, Mazurka, Sonata, Theme & Variations, Waltz ตัวอย่างลักษณะของประเภทบทประพันธ์ เช่น Étude เป็นงานประพันธ์ประเภทบทฝึก มักมีโครงสร้างเป็นเพลงขนาดสั้น เน้นฝึกฝนเพียงเทคนิคเดียวต่อหนึ่งบทเพลง
.
ประเภทเครื่องดนตรี (Instruments)
.
หากงานเพลงไม่ได้ระบุประเภทบทประพันธ์ ส่วนใหญ่มักระบุคำอีกชนิดเข้าไปแทนนั่นคือ ประเภทเครื่องดนตรี โดยบางชื่อเพลงอาจระบุเป็นประเภทเครื่องดนตรี เช่น String Quartets, Piano Duet ส่วนบางชื่ออาจระบุเป็น ‘ประเภทเครื่องดนตรี’ กับ ‘ประเภทบทประพันธ์’ เช่น Guitar Concerto, Piano Sonata เป็นต้น
.
กุญแจเสียง (Keys)
.
แม้ว่ากุญแจเสียงอาจไม่สามารถบ่งบอกถึงอารมณ์เพลงได้อย่างชัดเจน แต่การระบุกุญแจเสียง Major, minor ในชื่อเพลง ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การจัดเรียงหมวดหมู่บทประพันธ์สามารถจำแนกได้ง่ายขึ้น
.
หมายเลข (Number ตัวย่อ No.)
.
ด้วยความที่นักประพันธ์ในอดีตมักแต่งเพลงแนวเดียวกันหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นเบโธเฟนที่แต่งเพลงโซนาตา 32 ชิ้น หรือไฮเดินที่แต่งเพลงสตริงควอเตท 68 ชิ้น ด้วยเหตุนี้การจำแนกชิ้นงานตาม ‘ประเภทบทประพันธ์’ และ ‘ประเภทเครื่องดนตรี’ จึงเข้ามามีความสำคัญ ตัวอย่างเช่น Haydn: String Quartet No. 53 สามารถอ่านได้ว่างานชิ้นนี้เป็นบทประพันธ์ในประเภทสตริงควอเตทชิ้นที่ 53 ของไฮเดิน (Joseph Haydn)
.
หมายเลขโอปุส (Opus Number ตัวย่อ Op.)
.
หน้าที่ของหมายเลขโอปุส (Op.) คือการบ่งบอกว่าบทประพันธ์ชิ้นดังกล่าว เป็นงานชิ้นที่เท่าไหร่ในตลอดอาชีพการแต่งเพลงของนักประพันธ์ แตกต่างจากหมายเลข (No.) ซึ่งมักใช้นับเฉพาะประเภทบทประพันธ์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้หมายเลขโอปุสจึงสามารถเป็นผลงานประเภทใดก็ได้ นักประพันธ์จะแต่งเพลงชิ้นแรก (Op. 1) เป็นเปียโนโซนาตา ส่วนชิ้นที่สอง (Op. 2) เป็นซิมโฟนีก็ได้เช่นกัน โดยหมายเลขโอปุส (Op.) และหมายเลข (No.) มักถูกระบุอยู่ในชื่อเพลงร่วมกัน เพื่อบ่งบอกถึงหมวดหมู่ชิ้นงานของนักประพันธ์คนนั้นๆ
.
แต่หน้าที่ของหมายเลขโอปุสที่กล่าวมาข้างต้น อาจใช้ไม่ได้กับนักประพันธ์ทุกคน เนื่องจากการใช้หมายเลขโอปุสในอดีตยังคงมีความคลุมเครือ กระทั่งเข้าสู่ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 หมายเลขโอปุสจึงเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากมักถูกใช้เฉพาะงานที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วเท่านั้น
.
หมายเลขแค็ตตาล็อก (Catalog Numbers)
.
กรณีที่งานเพลงไม่เคยมีหมายเลขมาก่อน การจัดเรียงหมายเลขจึงตกไปอยู่กับบุคคลที่สาม เช่น นักดนตรีวิทยา สำนักพิมพ์ โดยจะทำการตีพิมพ์แค็ตตาล็อก และใช้ตัวย่อกับหมายเลขในการกำกับชิ้นงาน ตัวอย่างเช่น
.
K หรือ KV ย่อมาจาก Köchel-Verzeichnis nummer จัดทำโดย Ludwig Ritter von Köchel เป็นแค็ตตาล็อกที่จัดเรียงงานของโมสาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart)
.
Hob หรือ HV ย่อมาจาก Hoboken-Verzeichnis จัดทำโดย Anthony van Hoboken เป็นแค็ตตาล็อกจัดเรียงงานของไฮเดิน (Joseph Haydn)
.
BWV ย่อมาจาก Bach-Werke-Verzeichnis แปลว่า แค็ตตาล็อกผลงานของบาค จัดเรียงโดย Wolfgang Schmieder (S.)
.
ตัวอย่างการอ่านเช่น Bach: Cello Suite No. 1 in G Major, BWV 1007 สามารถอ่านได้ว่างานชิ้นนี้ เป็นบทประพันธ์ประเภทชุดเพลงสวีท หมายเลข 1 ในกุญแจเสียง G Major และเป็นผลงานชิ้นที่ 1007 ของบาค (Johann Sebastian Bach) จากการนับโดยระบบแค็ตตาล็อก BWV
.
บางแค็ตตาล็อกอาจใช้ตัวย่อที่เหมือนกัน เช่น WoO ย่อมาจาก Werke ohne Opuszahl แปลว่า ผลงานที่ไม่มีหมายเลขโอปุส ซึ่งเป็นตัวย่อที่หลายแคตตาล็อกนิยมใช้ ไม่ว่าจะเป็นงานของบรามส์ (Johannes Brahms) และ ชูมัน (Robert Schumann) โดยบางแค็ตตาล็อกอาจจัดเรียงตามปีที่ประพันธ์ ส่วนบางแค็ตตาล็อกจัดเรียงตามประเภทบทประพันธ์ ซึ่งด้วยความหลากหลายของวิธีจัดเรียงนี้เอง ทำให้งานเพลงของนักประพันธ์บางคนอาจมีมากกว่าหนึ่งแค็ตตาล็อก
.
ตัวอย่างเช่น Bagatelle No. 25 in A minor (WoO 59, Bia 515) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Für Elise สังเกตว่างานเพลงเปียโนอันโด่งดังของเบโทเฟนชิ้นนี้ มีแค็ตตาล็อกถึง 2 เวอร์ชันด้วยกัน เวอร์ชันแรก WoO เผยแพร่ในปี 1955 จัดทำโดยนักดนตรีวิทยาสองคน Kinsky กับ Halm ส่วนเวอร์ชันสอง Bia เผยแพร่ในปี 1968 จัดเรียงโดย Giovanni Biamonti
.
ความแตกต่างระหว่างสองเวอร์ชันคือ WoO เป็นแค็ตตาล็อกที่ตีพิมพ์ออกมาก่อนและได้รับความนิยมมากกว่า ส่วน Bia เป็นแค็ตตาล็อกที่ครอบคลุมงานของเบโธเฟนมากกว่า เนื่องจากเป็นเวอร์ชันที่ตีพิมพ์หลังสุด และได้รวบรวมการจัดเรียงจากแค็ตตาล็อกชิ้นก่อนๆ ท้ายที่สุดแล้ว Für Elise จึงกลายเป็นบทเพลงที่มักถูกอ้างอิงด้วยระบบแค็ตตาล็อกถึง 2 เวอร์ชันด้วยกัน
.
จังหวะดนตรี (Tempo)
.
ส่วนต่อมาที่มักพบในชื่อเพลงคือจังหวะดนตรี ความพิเศษของจังหวะดนตรีในเพลงคลาสสิก นอกจากบ่งบอกถึงความเร็วเพลงแล้ว ยังบ่งบอกถึงอารมณ์เพลงได้ด้วยเช่นกัน เช่น Allegro [สดใส, 100-150 bpm] Vivace [มีชีวิตชีวา, 136-160 bpm] โดยการระบุจังหวะดนตรี นอกจากเป็นการสื่อสารไปยังผู้ฟังแล้ว ยังสื่อสารไปยังนักดนตรีด้วยเช่นกันว่าควรจะบรรเลงบทเพลงด้วยความรู้สึกอย่างไร
.
มูฟเมนต์ (Movements)
.
บทประพันธ์ขนาดยาวส่วนใหญ่ มักแบ่งท่อนดนตรีออกเป็นส่วนๆ เช่นในกรณีของ Beethoven: Moonlight Sonata ซึ่งแบ่งท่อนดนตรีออกเป็น 3 มูฟเมนต์ แต่ด้วยความโด่งดังของมูฟเมนต์หนึ่ง I. Adagio sostenuto กับมูฟเมนต์สาม III. Presto agitato ทำให้หลายคนอาจหลงลืมอีกท่อนในบทประพันธ์นี้ไป นั่นคือมูฟเมนต์สอง II. Allegretto
.
โดยสรุปแล้ว วิธีการตั้งชื่อเพลงด้วยระบบหมวดหมู่ แม้จะเข้ามาช่วยจัดเรียงงานเพลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อเพลงอันยืดยาวนี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหา ‘เพลงคลาสสิกฟังง่าย แต่จำชื่อยาก’ ด้วยเหตุนี้การตั้งชื่อ ‘พิเศษ’ จึงเข้ามามีบทบาทเพื่อช่วยให้ผู้คนจดจำชื่อเพลงได้ง่ายขึ้น
.
บทประพันธ์ที่ไม่มีหมายเลข (Non-Numeric Titles) และชื่อรอง (Sub-Title)
.
กรณีที่นักประพันธ์เลือกที่จะตั้งชื่อเพลงโดยไม่ใช้ระบบหมวดหมู่ หน้าตาของชื่อเพลงมักจะมีความคล้ายกับชื่อเพลงในยุคปัจจุบัน เช่น Symphonie Fantastique ของแบร์ลิออส (Hector Berlioz) ส่วนชื่อรองเป็นส่วนเสริมที่นักประพันธ์มีเจตนาตั้งขึ้นมาเอง เช่น Tchaikovsky's Symphony No. 6 in B minor, Op. 74 มีชื่อรองว่า Pathétique
.
ชื่อเล่นบทประพันธ์ (Nicknames)
.
หากผู้เขียนบอกว่าเราทุกคนล้วนเคยฟังเพลง Beethoven: Piano Sonata No.14 in C sharp minor "Quasi una fantasia", Op. 27, No. 2 หลายคนคงจะสงสัยว่าตัวเองเคยไปฟังเพลงชื่อนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่หากผู้เขียนบอกว่างานชิ้นนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า Moonlight Sonata เชื่อว่าทุกคนคงจะคุ้นชินเป็นอย่างดี กรณีนี้เป็นตัวอย่างชัดเจนว่าผู้คนมักจดจำชื่อเล่นมากกว่าชื่อเต็มๆ จึงทำให้ชื่อเล่นจะเข้ามามีความสำคัญต่องานเพลงคลาสสิก
.
แม้จะมีชื่อเล่นส่วนหนึ่งที่ตั้งโดยตัวนักประพันธ์ แต่ส่วนใหญ่แล้วชื่อเล่นมักมาจากบุคคลที่สาม เช่น ผู้ฟัง นักวิจารณ์ สำนักพิมพ์ โดยมักตั้งจากลักษณะเด่นของงานเพลง จินตนาการ หรือความประทับใจระหว่างการฟัง ตัวอย่างเช่น Haydn’s Symphony No. 94 in G major (H. 1/94) มีชื่อเล่นว่า Surprise Symphony ซึ่งมาจากการตั้งใจแกล้งคนฟังของไฮเดินที่เขียนดนตรีให้ค่อยๆเบาก่อนจะดังขึ้นอย่างฉับพลัน หรือในกรณีของ Chopin’s Étude Op. 10, No. 5 มีชื่อเล่นว่า Black Keys Etude ซึ่งมาจากการบรรเลงส่วนใหญ่ในมือขวาที่มักเล่นบนลิ่มดำของเปียโน
.
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงคำเบื้องต้นที่อยู่ในชื่อเพลงคลาสสิก ยังมีคำที่เป็นหน่วยย่อยอีกมากมาย เช่น องก์ (Act) ฉาก (Scene) ซึ่งมักใช้ในฝั่งของงานโอเปราหรือบทละคร ผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับชื่อเพลงคลาสสิก หรือมีชื่อเพลงคลาสสิกแปลกๆที่น่าสนใจ สามารถมาแลกเปลี่ยนกันได้ครับ
.
Writer : Literary Boy