Mauro Giuliani ผู้สะท้อนแนวคิดผ่านงานประพันธ์ ‘กีตาร์เป็นได้มากกว่าเครื่องดนตรีบรรเลงประกอบ’

ย้อนกลับไปในยุคสมัยที่กีตาร์ยังมีขนาดเล็ก เสียงเบา และสร้างความหลากหลายของเสียงได้น้อย ผู้คนต่างมองไม่เห็นว่าเครื่องดนตรีขนาดพกพานี้ จะสามารถถ่ายทอดความซับซ้อนและลึกซึ้งของดนตรีคลาสสิกได้อย่างไร แต่สิ่งที่หลายคนคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ กลับสะท้อนผ่านงานประพันธ์ของนักกีตาร์ชาวอิตาลีที่มีชื่อว่า เมาโร จูลีอานี (Mauro Giuliani, 1781-1829)
.
โอเปร่าอิตาลี และคลาสสิกเวียนนา
.
แม้จะเกิดในเมืองวิสเชเย (Bisceglie) แต่เด็กชายจูลีอานีย้ายมาอยู่กับน้องชายในเมืองบาเลตตา (Barletta) ซึ่งเป็นเมืองที่เขาได้เติบโตและเริ่มเรียนดนตรี แม้เครื่องดนตรีชิ้นแรกจะเป็นเชลโล แต่กีตาร์กลับกลายเป็นเครื่องดนตรีที่จูลีอานีผูกพันและอุทิศชีวิตให้มากที่สุด จูลีอานีสามารถสร้างชื่อเสียงในฐานะนักกีตาร์ได้อย่างรวดเร็ว แต่สุดท้ายก็เหมือนโชคชะตาเล่นตลก
.
เมื่อดนตรีกระแสหลักของอิตาลีในเวลานั้นคือโอเปร่า และผู้คนต่างให้ความสนใจไปที่ดนตรีขับร้องมากกว่าดนตรีบรรเลง เมื่อผนวกกับภาวะเศรษฐกิจที่สั่นคลอนจากการรุกรานของนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoléon Bonaparte) ส่งผลให้บรรดาผู้อุปถัมภ์รวมถึงสำนักพิมพ์ ต่างไม่มีกำลังทรัพย์ในการอุดหนุนหรือเผยแพร่ผลงานเพลง การหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพนักดนตรีจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก ด้วยเหตุนี้ในวัย 25 ปี จูลีอานีตัดสินใจย้ายขึ้นเหนือไปยังออสเตรีย เพื่อเริ่มต้นเส้นทางดนตรีในเวียนนา
.
ก่อนที่จะย้ายไปเวียนนา จูลีอานีได้แต่งงานกับหญิงสาวชื่อ มาเรีย จูเซปเป เดล โมนาโก (Maria Giuseppe del Monaco) และมีลูกด้วยกันหนึ่งคน จูลีอานีไม่ได้พาครอบครัวที่พึ่งแต่งงานและมีลูกด้วยกันหมาดๆมาด้วย และเลือกที่จะเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่กับหญิงสาวชาวเวียนนาชื่อ แอนนา วีเซนแบร์เกอร์ (Anna Wiesenberger) ซึ่งยังมีลูกด้วยกันสี่คน ได้แก่ มาเรีย อโลอิเซีย เอมิเลีย และคาโรลินา
.
ถึงแม้จะต้องแข่งขันกับนักกีตาร์เจ้าถิ่น เช่น ซิมง โมลิทัว (Simon Molitor) แต่เส้นทางนักกีตาร์ในเวียนนาของจูลีอานี ถือเป็นความสำเร็จที่สามารถจับต้องได้ เขาซึมซับดนตรีคลาสสิกสไตล์เวียนนา เริ่มเผยแพร่งานประพันธ์ของตัวเอง มีทัวร์คอนเสิร์ตทั่วยุโรป โดยได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมากจากการแสดงรอบปฐมทัศน์ Guitar Concerto Op.30 งานประพันธ์ที่จูลีอานีนำเอากีตาร์มาประชันกับวงออเคสตราเต็มรูปแบบ
.
เวียนนา โรม และเนเปิลส์
.
ด้วยความสำเร็จและชื่อเสียง ทำให้จูลีอานีได้คลุกคลีกับเหล่าชนชั้นสูง นักดนตรีชั้นนำ และรวมถึงเหล่าคีตกวีผู้กำหนดทิศทางดนตรีในเวียนนา เช่น รอสซินี (Gioachino Rossini) และเบโทเฟน (Ludwig van Beethoven) มีแหล่งข้อมูลกล่าวว่าในปี 1813 จูลีอานีได้ร่วมบรรเลงเชลโลในการแสดงรอบปฐมทัศน์ Symphony No.7 ของเบโทเฟนด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีชื่อเสียงจากฝีมือการเล่นกีตาร์ที่เก่งกาจ แต่ในฐานะนักประพันธ์ จูลีอานียังคงเป็นรองเหล่าคีตกวีพอสมควร ผลงานของเขาไม่ค่อยได้รับความนิยมในเวียนนา และเมื่อผนวกกับการรุกราน [อีกครั้ง] ของนโปเลียนในออสเตรีย ส่งผลให้ในปี 1819 ด้วยหนี้สินจำนวนมหาศาลที่ก่อไว้ ทำให้จูลีอานีจำเป็นต้องออกจากเวียนนาอย่างถาวร เขาเลือกกลับมาที่อิตาลีอีกครั้งและมาตั้งหลักกันใหม่ที่เมืองโรม แต่เส้นทางนักกีตาร์ในกรุงโรมก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง เขาจัดคอนเสิร์ตหนึ่งครั้งและมีงานตีพิมพ์เพียงเล็กน้อย
.
ต่อมาในปี 1823 จูลีอานีย้ายลงใต้ไปยังเมืองเนเปิลส์ หลายแหล่งข้อมูลได้ให้เหตุผลที่แตกต่างกันไป บางแหล่งกล่าวว่าจูลีอานีลงมาเฝ้าพ่อที่กำลังป่วย บางแหล่งกล่าวว่าเมืองเนเปิลส์มีการแข่งขันในวงการกีตาร์น้อยและมีผู้อุปถัมป์เยอะ หรือบางแหล่งกล่าวว่าจูลีอานีต้องการมองหาเมืองที่มีสภาพอากาศปลอดโปร่ง เหมาะกับสุขภาพที่กำลังทรุดโทรมของเขา
.
ซึ่งเหตุผลที่สองดูจะมีแนวโน้มที่ชัดเจนมากกว่า ผลงานของจูลีอานีได้รับกระแสตอบรับที่ดีในเมืองเนเปิลส์ งานเพลงกีตาร์ของเขาได้รับการเผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ท้องถิ่น จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงบั้นปลายชีวิต เอมิเลียในวัย 12 ปี หนึ่งในลูกสาวของจูลีอานีที่เขาพามาด้วย ได้กลายเป็นนักกีตาร์ฝีมือโดดเด่น ทำให้ในหลายครั้งจูลีอานีมักปรากฏตัวร่วมกับลูกสาว พร้อมกับบรรเลงเพลงดูเอตด้วยกัน จูลีอานีจากไปในวันที่ 8 พฤษภาคม ปี 1829 ด้วยวัยเพียง 48 ปี
.
ทำนองหลักและการแปร (และรอสซินี)
.
ทำนองหลักและการแปร (Theme & Variations) เป็นโครงสร้างบทเพลงชนิดหนึ่งที่ผู้ประพันธ์จะสร้างท่อนทำนองหลัก (Theme) และนำท่อนดังกล่าวมาทำการแปร (Varistions) จนเกิดเป็นเนื้อหาดนตรีใหม่ที่ผู้ฟังยังคงรับรู้ได้ถึงทำนองหลัก ซึ่งการประพันธ์รูปแบบนี้ได้รับความนิยมมากในเวียนนา และดูจะเป็นทางถนัดของจูลีอานีด้วยเช่นกัน
.
งานประพันธ์และงานเรียบเรียงหลายชิ้นของจูลีอานี สะท้อนถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับทำนองหลักและการแปร เช่น Variations on a Theme by Handel, Op.107 งานที่ดัดแปลงจาก The Harmonious Blacksmith ซึ่งเป็นผลงานที่แสดงถึงความโดดเด่นในการเรียบเรียงของจูลีอานี โดยสามารถรักษาความเป็นต้นฉบับที่บรรเลงโดยฮาร์ปซิกคอร์ด (Harpsichord) พร้อมดึงเสน่ห์ของกีตาร์ออกมาได้อย่างลงตัว
.
อีกหนึ่งผลงานโด่งดังของจูลีอานีคือ Rossiniana บทประพันธ์จำนวน 6 เพลงที่เรียบเรียงจากงานโอเปร่าของรอสซินี (Gioachino Rossini) ด้วยชั้นเชิงทางดนตรีที่สามารถดึงศักยภาพของกีตาร์ตัวเล็กๆออกมาได้อย่างซับซ้อนและลึกซึ้ง จึงทำให้งานชิ้นนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในจุดสูงสุดของงานประพันธ์กีตาร์ยุคศตวรรษที่ 19
.
เป็นได้มากกว่าเครื่องดนตรีบรรเลงประกอบ
.
ตลอดผลงานกว่าหลายร้อยชิ้น ทั้งบรรเลงเดี่ยว ดูเอต แชมเบอร์ คอนแชร์โต หรือเอทูด ได้สะท้อนถึงจินตนาการของจูลีอานี ผู้มองลอดผ่านกีตาร์ตัวเล็กๆตัวหนึ่ง เขาแสดงให้เห็นว่าเครื่องดนตรีชิ้นนี้ สามารถถ่ายทอดความซับซ้อนและลึกซึ้งของดนตรีคลาสสิกได้ไม่แพ้เครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นคุณูปการที่จูลีอานีทำร่วมกับนักกีตาร์ในยุคเดียวกัน เช่น ดิโอนิซิโอ อากัวโด (Dionisio Aguado) หรือเฟอร์นานโด ซอร์ (Fernando Sor) ซึ่งกลายเป็นรากฐานให้กับการบรรเลงกีตาร์คลาสสิกมาจนถึงปัจจุบัน
.
โดยยังมีผลงานที่ไม่ได้กล่าวถึงอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Gran Sonata Eroica, Op.150 หรือ Grande Ouverture Op. 61 ผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับจูลีอานี หรือชื่นชอบผลงานชิ้นไหนเป็นพิเศษ สามารถมาแลกเปลี่ยนกันได้ครับ
.
Writer : Literary Boy
.
อ้างอิง :
[1] http://www.maestros-of-the-guitar.com/maurogiuliani.html
[2] http://maurogiuliani.free.fr/en
[3] https://www.encyclopedia.com/.../historian.../mauro-giuliani
[4] https://tecla.com/mau.../mauro-giuliani-1781-1829-life-music
[5] https://www.lagazzettaitaliana.com/.../9332-mauro-giuliani
[6] https://www.guitaroutrun.com/.../who-was-mauro-giuliani...
[7] https://www.willanacademy.com/inspiration-life-mauro...
[8] https://www.allmusic.com/.../mauro-giuliani.../biography