Étude บทฝึกที่เป็นมากกว่าบทฝึก

การฝึกฝนเทคนิค ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เหล่านักดนตรีควรหมั่นฝึกฝน เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อต้องเผชิญกับบทเพลงที่มีความท้าทาย หรือต่อยอดไปสู่ไอเดียในการแต่งเพลง แต่อุปสรรคใหญ่ที่เหล่านักดนตรีล้วนต้องพบเจอคือ ความเบื่อหน่ายจากการฝึกฝนเทคนิค
.
การต้องนั่งซ้อมสิ่งเดิมซ้ำๆราวกับฟังเสียงกรอเทป ดูจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่น่ารื่นรมย์เท่าไหร่นัก ซึ่งคงจะดีไม่น้อยหากได้สื่อประกอบการสอนที่มีทั้งความไพเราะ แถมยังได้ฝึกฝนเทคนิคไปในตัว เหล่านี้จึงเป็นที่มาของการประพันธ์ที่มีชื่อว่า เอทูด (Étude)
.
ความหมายของเอทูด
.
เอทูด (Étude) เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า เรียน (Study) เอทูดในทางดนตรีจึงหมายถึง บทฝึกที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการพัฒนาเทคนิคการบรรเลงของผู้เล่น นอกจากจุดประสงค์ในการฝึกฝนเทคนิคแล้ว บทฝึกยังได้สอดแทรกองค์ประกอบความเป็นดนตรีเข้าไปด้วย ทำให้บทฝึกหลายชิ้นมีความไพเราะราวกับฟังบทเพลงจริง ด้วยเหตุนี้เองเอทูดจึงกลายเป็นบทฝึกที่ได้รับความนิยม และถูกนำไปแสดงในคอนเสิร์ตอย่างเป็นทางการด้วยเช่นกัน
.
‘เอทูด’ แตกต่างจาก ‘แบบฝึกหัด’ อย่างไร?
.
องค์ประกอบความเป็นดนตรี จะเป็นตัวบ่งบอกสำคัญถึงความแตกต่างระหว่าง ‘เอทูด’ กับ ‘แบบฝึกหัด’ เอทูดเป็นบทฝึกที่มีองค์ประกอบของความเป็นดนตรี ฟังแล้วสามารถรับรู้ได้ถึงความเป็นบทเพลง แตกต่างจากแบบฝึกหัด (Exercise) ที่เน้นการฝึกฝนเทคนิคเพียงอย่างเดียว หากเปรียบเอทูดกับแบบฝึกหัดเป็นการเล่นกีฬา แบบฝึกหัดจึงเปรียบเสมือนการยืดกล้ามเนื้อ ส่วนเอทูดเปรียบเสมือนการลงฝึกซ้อมในสนามจริง
.
ชนชั้นกลาง และเปียโน
.
ช่วงก่อนศตวรรษที่ 19 บทฝึกมักมีชื่อเรียกไม่เหมือนกัน เช่น Lesson หรือ Study กระทั่งเข้าสู่ยุคการขยายตัวของชนชั้นกลางในศตวรรษที่ 19 ผู้คนต่างมีกำลังทรัพย์ในการจับจ่ายใช้สอย และเปียโนก็เป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้น ความนิยมของเปียโนทำให้เกิดยุคเฟื่องฟูของอาชีพสอนดนตรีตามบ้าน รวมถึงการตีพิมพ์เผยแพร่ตำราเรียนและโน้ตเพลง ด้วยเหตุนี้ทำให้เหล่านักประพันธ์นำโดย คาร์ล เชอร์นี (Carl Czerny) โยฮันน์ แบปติสท์ เครเมอร์ (Johann Baptist Cramer) และ มูซิโอ เคลเมนติ (Muzio Clementi) ต่างพากันสร้างสรรค์สื่อการสอนเปียโนที่ต้องมีทั้งความไพเราะ น่าสนใจ น่าดึงดูด และยังได้ฝึกฝนเทคนิคไปในตัว ทำให้บทฝึกที่มีชื่อว่าเอทูด จึงเริ่มถูกใช้เรียกกันอย่างแพร่หลายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
.
ความนิยมของเอทูด ได้ส่งผลต่อยอดให้เหล่าคีตกวีชื่อดัง พากันสร้างสรรค์บทฝึกตามออกมาอีกมากมาย เช่น เฟรเดริก โชแปง (Frédéric Chopin) โรเบิร์ต ชูมัน (Robert Schumann) ฟรานซ์ ลิสท์ (Franz Liszt) ซึ่งผลงานของคีตกวีเหล่านี้ได้ยกระดับบทฝึกไปอีกระดับ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้มองว่าเอทูดเป็นบทฝึกสำหรับผู้หัดเล่นอีกต่อไป แต่เอทูดต้องเป็นบทฝึกที่มีทั้งความท้าทาย เทคนิคแพรวพราว และต้องสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟัง เหล่านี้จึงนำไปสู่การนิยามศัพท์ใหม่ที่มีชื่อว่า Concert Étude หรือ Concert Studies
.
เอทูดสำหรับกีตาร์
.
ความนิยมของเอทูดเปียโน ทำให้เกิดบทฝึกสำหรับเครื่องดนตรีชิ้นอื่นตามมาอีกมากมาย และกีตาร์ได้เป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีเหล่านั้นเช่นกัน นักกีตาร์ในยุคดังกล่าวนำโดย เฟอร์นันโด ซอร์ (Fernando Sor) และมัตเตโอ คาร์คาสซี (Matteo Carcassi) ต่างมีบทบาทในการพัฒนาบทฝึกเอทูด หลายชิ้นกลายเป็นงานประพันธ์ทรงอิทธิพลให้กับนักประพันธ์รุ่นหลัง เช่น วิลลา โลโบส (Heitor Villa-Lobos) และลีโอ บราวเวอร์ (Leo Brouwer) ต่างประพันธ์บทฝึกเอทูดตามมาในศตวรรษที่ 20
.
บทฝึกที่เป็นมากกว่าบทฝึก
.
เอทูดได้รับการวิวัฒนาการไปตามกระแสดนตรี เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ดนตรีสไตล์คลาสสิกและโรแมนติกได้เข้ามามีบทบาทในการประพันธ์บทฝึก จนกระทั่งเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ดนตรีร่วมสมัยได้เข้ามามีบทบาทต่อเอทูด ทำให้เกิดบทฝึกที่มีความแปลกใหม่ แม้ว่าธรรมเนียมการประพันธ์เอทูด จะเริ่มต้นจากวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเทคนิคการบรรเลงของผู้เล่นเปียโน แต่องค์ประกอบความเป็นดนตรีอันไพเราะของบทฝึก ทำให้เอทูดกลายเป็นบทฝึกที่มาไกลกว่าเจตจำนงของตัวเอง
.
ยังมีงานประพันธ์เอทูดอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง ผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไร หรือชื่นชอบผลงานเอทูดชิ้นไหน สามารถมาแลกเปลี่ยนกันได้ครับ
.
Fun Fact : ชื่อแบรนด์เครื่องสำอาง ETUDE ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชื่อบทฝึกชิ้นหนึ่งของโชแปงเช่นกัน
.
Writer : Literary Boy
.
อ้างอิง :
[1] http://www.maestros-of-the-guitar.com/etude.html
[2] https://www.britannica.com/art/etude-music
[3] https://flypaper.soundfly.com/.../what-are-etudes-and-why...