Antonio Lauro ผู้พาดนตรีเวเนซุเอลาไปสู่ระดับโลกด้วยเสียงกีตาร์คลาสสิก

แม้วิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศ จะมีส่วนทำให้ภาพลักษณ์ของเวเนซุเอลาดูน่าดึงดูดน้อยลง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนต์เสน่ห์ของประเทศแถบลาตินอเมริกาแห่งนี้ ไม่ได้จางหายไปไหน ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรม [นางงาม] และโดยเฉพาะดนตรี ซึ่งกว่าดนตรีเวเนซุเอลาจะเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน ต้องผ่านการผลักดันและพิสูจน์มาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ
.
และหนึ่งในผู้มีส่วนผลักดันดนตรีเวเนซูเอลาคือ อันโตนิโอ เลาโร (Antonio Lauro, 1917-1986) ศิลปินนักกีตาร์และนักประพันธ์ชาวเวเนซูเอลา ผู้สามารถก้าวข้ามอคติทางเชื้อชาติและพิสูจน์โดยงานเพลงคุณภาพอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล การนำสำเนียงดนตรีบ้านเกิดมาผสมผสานกับท่วงทำนองดนตรีจากยุโรป ทำให้เกิดเป็นงานเพลงที่สร้างเฉดสีใหม่ให้กับวงการดนตรีและกีตาร์คลาสสิก
.
ณ เมืองซิวดัด โบลีวาร์ (Ciudad Bolívar) ทางตอนใต้ของเวเนซุเอลา อันโตนิโอ เลาโร เติบโตมาในครอบครัวอพยพชาวอิตาลี โดยมีพ่อประกอบอาชีพเป็นช่างตัดผม และมีความสามารถในการร้องเพลงและเล่นกีตาร์ จึงไม่แปลกที่ครูดนตรีคนแรกของเลาโรคือพ่อของตัวเอง แต่การสอนนั้นเกิดขึ้นได้ไม่นาน เลาโรในวัย 5 ขวบได้สูญเสียพ่อไปอย่างกระทันหัน การสูญเสียครั้งนี้ทำให้เลาโรและครอบครัวต้องย้ายบ้านไปอาศัยยังเมืองการากัส (Caracas)
.
เลาโรในวัย 9 ขวบ ได้เริ่มเข้าเรียนดนตรีอย่างจริงจังที่สถาบัน Academy of Music and Declamation โดยเรียนเปียโนและการประพันธ์เพลงกับ บิเซนเต เอมิลิโอ โซโจ (Vicente Emilio Sojo) นักประพันธ์เพลงชาวเวเนซูเอลา จนกระทั่งปี 1932 การเดินทางมาทัวร์คอนเสิร์ตของนักกีตาร์คลาสสิกชาวปารากวัย ออกัสติน บาร์ริออส (Agustín Barrios Mangoré) ทำให้เลาโรที่อยู่ในการแสดงวันนั้น ประทับใจกับเสียงกีตาร์คลาสสิกและการบรรเลงอันน่าอัศจรรย์ใจของบารริออส เลาโรหันหางเสือให้กับเส้นทางดนตรีในทันที เขาละทิ้งเปียโนและหันมาเรียนกีตาร์อย่างจริงจังกับ ราอูล บอร์เกส (Raúl Borges) ครูกีตาร์ผู้เปิดโลกให้กับเลาโรได้รู้จักงานเพลงกีตาร์คลาสสิก เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี 1938 เลาโรได้กลายเป็นชาวเวเนซุเอลาคนแรกที่สำเร็จการศึกษาด้านกีตาร์คลาสสิก
.
เลาโรเป็นหนึ่งในเด็กที่เติบโตมาในกระแสแนวคิดชาตินิยม เป็นช่วงเวลาที่เหล่าวัยรุ่นในแถบอเมริกาใต้ ต่างเชิดชูและสรรเสริญความเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเอง เหล่านี้มีส่วนให้เลาโรและเพื่อน ก่อตั้งวงดนตรีที่มีชื่อว่า ทรีโอ คันทอเรส เดล โทรปิโก (Trio Cantores del Trópico) วงดนตรีสามชิ้นที่บรรเลงดนตรีสไตล์เวเนซูเอลา เน้นออกทัวร์คอนเสิร์ตในต่างประเทศ โดยเปรียบเสมือนการเผยแพร่วัฒนธรรมทางอ้อม
.
เลาโรเริ่มสนใจกับแนวดนตรีที่มีชื่อว่า วอลต์ซ เวเนโซลาโนส (Valses Venezolanos) มรดกทางดนตรีที่ถูกคิดค้นในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยนักเปียโนชาวเวเนซูเอลา รามอน เดลกาโด ปาลาซิออส (Ramón Delgado Palacios) ดนตรีมีลักษณะบรรเลงอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายในอัตราจังหวะผสมผสานระหว่าง 3/4 กับ 6/8 และมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นนั่นคือ การบรรเลงแบบซินโคเปชัน (Syncopation) หรือหากกล่าวโดยง่ายคือการบรรเลงในจังหวะ ‘และ’ [1 และ 2 และ 3 = เล่นในจังหวะ ‘และ’]
.
ในระหว่างที่เลาโรกำลังให้ความสนใจแนวดนตรีดังกล่าว เอเวนซิโอ กาสเตลลาโนส (Evencio Castellanos) เพื่อนนักเปียโนของเลาโรได้นำงานเพลง วอลต์ซ เวเนโซลาโนส มาบรรเลงในการแสดงเปียโน ซึ่งการแสดงของเพื่อนในวันนั้น ทำให้เลาโรตระหนักได้ว่าเราควรจะมี ‘วอลต์ซ เวเนโซลาโนส สำหรับกีตาร์’ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของงานเพลงอันโด่งดังของเลาโรนั่นคือ Tatiana, Andreína และ Natalia หรือที่รู้จักกันในชื่อ Vals Venezolano ชุดเพลงบรรเลงกีตาร์คลาสสิกที่จุดประกายให้เกิดงานเพลงสไตล์ วอลต์ซ เวเนโซลาโนส ตามมาอีกมากมาย
.
ในขณะที่เลาโรกำลังดำเนินเส้นทางดนตรี อีกมุมหนึ่งของเวเนซุเอลา สถานการณ์การเมืองดูไม่ค่อยสู้ดีนัก เลาโรมีอุดมการณ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวคิดประชาธิปไตย ซึ่งสวนทางกับรัฐบาลทหาร นำโดยนายพล มาร์กอส เปเรซ ฆิเมเนซ (Marcos Pérez Jiménez) เลาโรถูกจับเข้าคุกในปี 1951 ซึ่งเขาได้เล่าถึงเหตุการณ์การติดคุกอย่างสบายใจว่า การติดคุกแทบจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับเยาวชนในรุ่นเดียวกันกับเขา โดยเลาโรยังคงเขียนเพลงต่อไปแม้จะอยู่ในคุก จนเมื่อได้รับการปล่อยตัวเขาก็เข้าร่วมทัวร์คอนเสิร์ตทันทีกับวงดนตรีกีตาร์สามชิ้น Trio Raúl Borges ซึ่งก่อตั้งโดยอาจารย์ของเขาเอง
.
เลาโรประสบความสำเร็จอย่างสูงในฐานะนักประพันธ์เพลงกีตาร์คลาสสิกที่มีผลงานไปไกลในระดับสากล และยังทำให้กีตาร์คลาสสิกกลายเป็นเครื่องดนตรียอดนิยมในเวเนซูเอลา อย่างไรก็ตาม ต้องยกความดีความชอบให้กับเหล่าอดีตลูกศิษย์ของราอูล บอร์เกส อันได้แก่ โรดริโก ริเอรา (Rodrigo Riera) โจเซ ราฟาเอล ซิสเนรอส (José Rafael Cisneros) และ อาลิริโอ ดิแอซ (Alirio Díaz) ทั้งสามต่างนำผลงานเพลงของเลาโรไปเผยแพร่สู่ระดับสากล ผ่านการบรรเลงกีตาร์คลาสสิกอันยอดเยี่ยมของพวกเขา
.
โดยเฉพาะกับดิแอซ ทั้งสองต่างเปรียบเสมือนคู่หูนักประพันธ์และนักบรรเลง การบรรเลงกีตาร์คลาสสิกอันพริ้วไหวของดิแอช ทำให้งานเพลงของเลาโรไปเสนาะหูเหล่านักกีตาร์คลาสสิกผู้ทรงอิทธิพลไม่ว่าจะเป็น ลีโอ บราวเวอร์ (Leo Brouwer) จอห์น วิลเลียมส์ (John Williams) และโดยเฉพาะ อันเดรส เซโกเวีย (Andrés Segovia) ซึ่งนำบทเพลง Natalia ของเลาโรไปบันทึกเสียงในปี 1955
.
เกียรติยศสูงสุดที่เลาโรได้รับคือ National Music Prize รางวัลอันเป็นเกียรติสูงสุดที่มอบให้กับศิลปิน เลาโรมีโอกาสรับงานด้านดนตรีหลากหลายมากขึ้น ทั้งการเป็นศาสตราจารย์ด้านกีตาร์ในสถาบันดนตรี รวมถึงการเป็นประธานวงซิมโฟนีออเคสตราแห่งเวเนซูเอลา โดยเป็นที่น่าเสียดายที่เหล่างานเพลงออเคสตาของเลาโร ไม่ได้ถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการ
.
เลาโรมักกล่าวอย่างถ่อมตัวเสมอว่าเขาเป็นเพียงนักประพันธ์ไม่ใช่นักแสดงดนตรี แต่ด้วยการหว่านล้อมจากเพื่อนๆ ทำให้เขามีทัวร์คอนเสิร์ตเป็นของตัวเอง โดยเริ่มทัวร์ในประเทศและไปจบทัวร์อย่างยิ่งใหญ่ที่ วิกมอร์ ฮอลล์ (Wigmore Hall) ในลอนดอน เลาโรเสียชีวิตในเมืองการากัสในปี 1986 ทิ้งความภาคภูมิใจที่เขามีต่อประเทศบ้านเกิด อันก่อเกิดการฟื้นฟูรากเหง้าและสอดประสานร่วมกับท่วงทำนองของยุโรป จนเกิดเป็นงานเพลงอันทรงคุณค่าที่สร้างเฉดสีใหม่ให้กับวงการดนตรีและกีตาร์คลาสสิก
.
Writer : Literary Boy
.