Johann Kaspar Mertz นักประพันธ์เพลงกีตาร์ผู้เกิดผิดเวลา

ยุคทองของกีตาร์ ถือเป็นยุคสมัยที่กีตาร์ได้รับความนิยมตั้งแต่ในหมู่นักดนตรีไปจนถึงเหล่าขุนนาง นักกีตาร์ในยุคทองส่วนใหญ่ต่างมีชีวิตที่ดี ซึ่งสวนทางกับเรื่องราวของนักกีตาร์ในบทความวันนี้ เขาเกิดในยุคที่กีตาร์กำลังเสื่อมความนิยม ทำให้ชีวิตต้องประสบกับความลำบาก เหล่านี้คือเรื่องราวของ ‘โยฮันน์ คาสปาร์ เมิร์ตซ์’ (Johann Kaspar Mertz, 1806–1856)
.
แม้ว่าหลายคนอาจคุ้นชินกับชื่อ โยฮันน์ คาสปาร์ เมิร์ตซ์ (Johann Kaspar Mertz) แต่ชื่อที่ถูกต้องคือ แคสปาร์ โจเซฟ เมิร์ตซ์ (Caspar Joseph Mertz) โดยความเข้าใจผิดเชื่อว่าอาจมาจากการไม่ยอมใช้ชื่อจริงในงานตีพิมพ์ของเมิร์ตซ์ J.K. คือชื่อย่อที่เขาชอบใช้กับงานตีพิมพ์ ซึ่งทำให้ชื่อเพี้ยนจากโจเซฟกลายเป็นโยฮันน์ จนในปี 1901 วารสารกีตาร์ Der Guitarrefreund (The guitar friend) กลายเป็นวารสารตัวแรกที่ตีพิมพ์โดยใช้โยฮันน์ และหลังจากนั้นได้เกิดการตีพิมพ์ซ้ำจนกลายเป็นที่มาของชื่อในปัจจุบัน
.
เมิร์ตซ์เกิดในเพรสเบิร์ก (Pressburg) หรือบราติสลาวา (Bratislava) ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ของสโลวาเกีย ชีวประวัติส่วนใหญ่ของเมิร์ตซ์ มักไม่ได้กล่าวถึงชีวิตวัยเด็กและสมาชิกครอบครัว ทราบเพียงแค่เมิร์ตซ์เดินทางมายังกรุงเวียนนาในปี 1840 และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่นี่จนกระทั่งเสียชีวิต แต่บางชีวประวัติได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัยเด็กของเมิร์ตซ์ว่า เขาเป็นเด็กที่มีความสามารถด้านกีตาร์และฟลุต แต่ด้วยความขัดสนทางการเงิน ทำให้ในวัย 12 ปี เมิร์ตซ์ต้องดิ้นรนด้วยการสอนดนตรีเพื่อช่วยเหลือครอบครัว ต่อมาเขาได้ย้ายมาใช้ชีวิตใหม่ในกรุงเวียนนาเพื่อเริ่มต้นอาชีพนักกีตาร์ ซึ่งเขาสามารถสร้างชื่อเสียงได้พอสมควร เมิร์ตซ์มีฐานผู้ติดตามที่พร้อมจะฟังการบรรเลงของเขาอย่างมั่นคง และหลังความสำเร็จจากการแสดงในโรงละคร Royal Theatre เมิร์ตซ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นนักกีตาร์ประจำราชสำนัก และออกทัวร์แสดงดนตรีในออสเตรีย โปแลนด์ รัสเซีย รวมถึงสองเมืองในปรัสเซีย
.
ช่วงปี 1846-1848 ความเจ็บปวดจากความผิดปกติทางจิต ทำให้เมิร์ตซ์ต้องเข้ารับการรักษา แต่ด้วยตัวยาที่ใช้รักษาในเวลานั้น สตริกนิน (Strychnine) ตัวยาซึ่งออกฤทธิ์รุนแรงจนผู้คนในปัจจุบันนิยมนำไปใช้แทนยาเบื่อหนู เมิร์ตซ์ใช้ยาชนิดดังกล่าวเกินขนาดจนเกือบเสียชีวิต แต่สุดท้ายก็สามารถรอดมาได้ โดยมีภรรยาคอยเคียงข้างและรักษาจนหายขาดในอีกหนึ่งปีต่อมา ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเมิร์ตซ์
.
เมื่อ โจเซฟิน แพลนติน (Josephine Plantin) ภรรยาของเมิร์ตซ์ที่แต่งงานด้วยกันในปี 1842 ด้วยความที่เธอเป็นนักเปียโน ในช่วงพักรักษาตัวของสามี โจเซฟินมักจะบรรเลงเปียโนให้เมิร์ตซ์ฟังอยู่เสมอ การฟังดนตรีสไตล์โรแมนติกและสำเนียงการบรรเลงเปียโนของภรรยา ทำให้เมิร์ตซ์ซึมซับและตกผลึกกลายเป็นงานประพันธ์กีตาร์ ที่มีกลิ่นอายการบรรเลงเปียโนยุคโรแมนติก ซึ่งปกคลุมไปด้วยอิทธิพลจากเหล่าคีตกวีแห่งยุค อาทิ ลิสท์, โชแปง, เมนเดลส์โซน, ชูเบิร์ต และชูมานน์
.
แม้ว่านักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จะระบุว่าเมิร์ตซ์ อยู่ในยุคเดียวกับ เฟอร์นันโด ซอร์ (Fernando Sor) ดิโอนิซิโอ อากัวโด (Dionisio Aguado) และ เมาโร จูลิอานี (Mauro Giuliani) แต่ความเป็นจริงคือ นักกีตาร์เหล่านี้ล้วนเกิดก่อน และมีระยะห่างจากเมิร์ตซ์เฉลี่ย 25 ปี ผนวกกับเป็นช่วงเวลาที่ดนตรีกำลังเปลี่ยนถ่ายจากยุคคลาสสิกเข้าสู่ยุคโรแมนติก จึงเป็นสาเหตุที่ผลงานของเมิร์ตซ์แตกต่างจากนักประพันธ์รุ่นพี่ที่ได้รับอิทธิพลดนตรีคลาสสิกมากกว่า
.
แต่เนื่องจากช่วงชีวิตของเมิร์ตซ์ อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างคลาสสิกกับโรแมนติก ผู้ฟังส่วนใหญ่ที่ยังคุ้นชินกับดนตรีคลาสสิก อาจไม่ชอบงานของเมิร์ตซ์ ขณะเดียวกันผู้ฟังเพลงโรแมนติกยังคงมีไม่มากนัก และผนวกกับขาลงของยุคทองกีตาร์ เหล่านี้กลายเป็นความโชคร้ายของเมิร์ตซ์ เขาเป็นยอดนักประพันธ์ผู้เกิดผิดเวลา หากเกิดหลังจากนี้ไม่กี่ปี เขาอาจประสบความสำเร็จ และอาจได้รับการยกย่องเทียบเท่าซอร์ อากัวโด และจูลิอานี
.
ปี 1856 ขุนนางชาวรัสเซียผู้มั่งคั่ง นิโคไล เปโตรวิช มาคารอฟ (Nicolai Petrovich Makaroff) ได้จัดการแข่งขันประพันธ์เพลงกีตาร์ (Concertino at the Brussels Competition) โดยมีรางวัลใหญ่เป็นสิทธิ์การทัวร์แสดงดนตรีทั่วยุโรป เมิร์ตซ์เข้าร่วมการแข่งขันด้วยการส่ง 3 Morceaux, Op. 65 บทประพันธ์ซึ่งประกอบด้วย Fantasie Hongroise, Fantasie Originale และ Le Gondolier โดยเมิร์ตซ์ต้องแข่งกับอีกหนึ่งนักประพันธ์กีตาร์คนสำคัญ นโปเลียน คอสเต (Napoleon Coste) ซึ่งมาในเพลง Great Serenade op.30 แต่ยังไม่ทันได้ประกาศผล เมิร์ตซ์เสียชีวิตไปก่อนด้วยอาการป่วยเรื้อรังในวัย 50 ปี และหลังจากนั้นไม่กี่วัน บทประพันธ์ของเขาก็ถูกประกาศเป็นผู้ชนะเลิศ โดยรางวัลดังกล่าวตกมาอยู่กับ นโปเลียน คอสเต ทำให้ Fantasie Dramatique "Le Depart", Op.31 จึงเป็นบทเพลงที่คอสเตประพันธ์เพื่ออุทิศแด่เมิร์ตซ์ผู้ล่วงลับ
.
เมิร์ตซ์เป็นผู้บุกเบิกการบรรเลงกีตาร์ในสไตล์โรแมนติก ผู้คนในอดีตอาจจินตนาการไม่ออกว่าการบรรเลงที่เร้าอารมณ์ของวงออเคสตราขนาดใหญ่ จะสามารถบรรจุอยู่ในการบรรเลงกีตาร์เพียงตัวเดียวได้อย่างไร ซึ่งเมิร์ตซ์สามารถทำได้ และทำได้ในยุคที่กีตาร์ยังมีขนาดเล็ก และยังไม่ถูกปฏิวัติโดย อันโตนิโอ เดอ ทอร์เรส (Antonio de Torres) จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าหากเมิร์ตซ์อยู่ทันได้เห็นกีตาร์คลาสสิกของทอเรส เขาจะประพันธ์ดนตรีออกมาได้อลังการแค่ไหน
.
เมิร์ตซ์ต้องการให้กีตาร์สามารถถ่ายทอดดนตรีได้อลังการได้เทียบเท่าเครื่องดนตรีอื่น มีหลากหลายบทเพลงที่แสดงถึงความทะเยอทะยาน อาทิ Introduction et Rondo brillant, op.11 หรืองานที่โด่งดังที่สุดของเมิร์ตซ์ Bardenklänge op.13 (1847) หรือบาร์ดิก ซาวน์ (Bardic Sound) บทประพันธ์ขนาดสั้นที่บรรจุเพลงดังเอาไว้มากมาย อาทิ Tarantella, Capriccio และ An Malvina
.
ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงความยอดเยี่ยมและจินตนาการที่ล้ำหน้า ดังที่ นิโคไล มาคารอฟ (Nikolai Makaroff) นักกีตาร์ชาวรัสเซียได้นิยามดนตรีของเมิร์ตซ์ไว้ว่า “พริ้วไหว อ่อนโยน หนักแน่น เร้าอารมณ์ ฝีมือการบรรเลงของเขา เต็มไปด้วยความลับเกี่ยวกับซาวน์กีตาร์ที่เขาสร้างและเก็บงำมันไว้”
.
Writer : Literary Boy
.
สนใจเรียนกีตาร์ : www.ptnoteguitar.com/p/lessons.html
.
สนใจเลี้ยงกาแฟได้ที่ https://www.ptnoteguitar.com/p/keep-us-caffeinated.html?m=1
.
Web : www.ptnoteguitar.com
Chanta Guitar : https://goo.gl/ictyaA
Tel : 092-907-9966, 061-408-6858
.
#สอนกีตาร์ออนไลน์ #สอนกีตาร์คลาสสิก #PTNoteGuitar #classicalguitar #กีตาร์ #เล่นกีตาร์
.
Reference:
[1] http://www.maestros-of-the-guitar.com/johannkasparmertz.html
[2] https://www.allmusic.com/.../johann-kaspar.../biography
[3] https://www.blog.der-leiermann.com/.../johann-kaspar...
[4] https://www.jkmertz.com/en/kaspar-joseph-mertz-j-k-mertz
[5] https://www.naxos.com/MainSite/BlurbsReviews/...