Nikita Koshkin นักกีตาร์คลาสสิกผู้ทะเยอทะยาน กับดนตรีที่ดุดันไม่เกรงใจใคร: ประวัติกีตาร์คลาสสิก

หากกล่าวถึงนักกีตาร์คลาสสิกยุคร่วมสมัย (Contemporary Music) มีหลายชื่อที่โด่งดังและมีสไตล์การประพันธ์เป็นของตัวเอง เช่น ลีโอ บราวเวอร์ (Leo Brouwer, 1939) โรแลน ดีเยนส์ (Roland Dyens, 1955-2016) โดยมีอีกหนึ่งคนที่ผลงานเด่นของเขาขึ้นชื่อเรื่องความดุดัน ฉูดฉาดราวกับสีที่สาดไปยังเฟรมผ้าใบอย่างเร้าใจ ทั้งหมดคือเรื่องราวของ ‘นิคิตา คอชคิน’ (Nikita Koshkin, 1956)
.
รัสเซียนคอมโพสเซอร์ และดนตรีร็อค
.
แม้ครอบครัวจะปูทางให้เป็นนักการฑูต แต่เมื่อคอชคินได้รับของขวัญวันเกิดจากคุณปู่ในวัย 14 ปี เป็นกีตาร์และแผ่นเสียงของอังเดรส เซโกเวีย (Andrés Segovia, 1893-1987) ทำให้คอชคินเริ่มศึกษากีตาร์คลาสสิกอย่างจริงจัง และเหล่าอิทธิพลทางดนตรีจาก สตราวินสกี (Stravinsky) ชอสตาโควิช (Shostakovich) โพรโคเฟียฟ (Prokofiev) และเพลงร็อค เหล่านี้ได้บ่มเพาะให้เด็กหนุ่มจากมอสโกว เติบโตมามีสไตล์การประพันธ์เพลงที่ดุดัน เร้าใจ และเต็มไปด้วยจินตนาการ
.
บทประพันธ์เปิดตัวสุดเร้าใจ
.
‘เดอะพรินส์ ทอยส์ สวีท’ (The Prince’s Toys Suite, 1980) ถูกบรรเลงครั้งแรกโดยนักกีตาร์คลาสสิกชาวเช็ก วลาดิเมียร์ มิคูลคา (Vladimir Mikulka) ในเทศกาลคานนิงตัน (Cannington Festival) ประเทศอังกฤษ ซึ่งผู้จัดงานรู้สึกประทับใจในงานเพลงชิ้นนี้ จึงพยายามผลักดันให้ผลงานเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งทำให้ชื่อของ นิคิตา คอชคิน เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะคอมโพสเซอร์ร่วมสมัยที่มีสไตล์การประพันธ์อันโดดเด่น
.
ดนตรีส่วนใหญ่ในงานประพันธ์ The Prince’s Toys Suite มักเต็มไปด้วยเสียงประสานที่ขัดกันอย่างตั้งใจ ให้ความรู้สึกกระชาก เว้าแหว่ง โกลาหล ขณะเดียวกันยังประคองไว้ซึ่งธีมเพลงอันว่าด้วยเรื่องของโลกเทพนิยายที่เหล่าของเล่นมีชีวิต และการเดินทางข้ามไปยังอีกมิติหนึ่ง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Nutcracker และ Swan Lake ของไชคอฟสกี (Tchaikovsky) ทั้งหมดนำมาซึ่งความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ที่ส่งมายังผู้ฟังอย่างตราตรึงใจ
.
แม้เหล่าเทคนิคพิเศษที่ปรากฏในบทเพลง คอชคินอาจไม่ใช่ผู้คิดค้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการประยุกต์ใช้เทคนิคพิเศษในงานชิ้นนี้ ได้เปิดจินตนาการและขยายขอบเขตความเป็นไปได้ในงานประพันธ์เพลงกีตาร์คลาสสิก ซึ่งมีผลต่อนักประพันธ์ยุคหลังนำเทคนิคเหล่านี้มาประยุกต์ใช้มากขึ้น
.
การนำสาย 5 กับ 6 (A กับ E-low) มาเกี่ยวกันเพื่อสร้างเสียงกลองสแนร์ เราอาจเคยเห็นมาแล้วในเพลง Gran Jota ของทาร์เรกา (Francisco Tárrega, 1852-1909) แต่คอชคินไปไกลกว่านั้นโดยการเกี่ยวสาย 1 กับ 2 และ 2 กับ 3 ซึ่งยังมีอีกหลายเทคนิคที่ปรากฏในบทเพลง เช่น การใช้เล็บขูดสาย การดีดสายบริเวณหัวกีตาร์หลังนัต (Nut) หรือการใช้มือขวาตบไปที่สะพานสาย (Bridge)
.
การล่มสลายของบ้านอัชเชอร์
.
แน่นอนว่าหากกล่าวถึงคอชคิน ต้องไม่ลืมผลงานมาสเตอร์พีชที่ทำให้ชื่อของคอชคิน บรรจุอยู่ในทามไลน์ประวัติศาสตร์กีตาร์คลาสสิก ‘อัชเชอร์-วอลทซ์’ (Usher-Waltz หรือ Usher-Valse, 1984) งานประพันธ์ซึ่งแต่งให้กับวลาดิสลาฟ บลาฮา (Vladislav Blaha) นักกีตาร์คลาสสิกชาวเช็ก บทเพลงได้รับแรงบันดาลใจจาก The Fall of the House of Usher (1839) เรื่องสั้นของนักเขียนชาวอเมริกา เอ็ดการ์ อัลลัน โพ (Edgar Allan Poe, 1809-1849)
.
จังหวะเพลงวอลทซ์เนิบๆ ทำนองเพลงที่วิ่งไปอย่างน่าหลงใหล และเสียงประสานชวนพิศวง เมื่อเข้าช่วงไคลแมกซ์ ดนตรีเริ่มหนักหน่วงขึ้นด้วยการสตรัมคอร์ดอย่างรุนแรง ต่อด้วยเสียงกระแทกชวนขนลุกด้วยเทคนิค ‘บาร์ตอก พิซซิคาโต’ (Bartok pizzicato) หรือการใช้มือขวาดึงสายขึ้นเหนือฟิงเกอร์บอร์ดเล็กน้อย ก่อนจะปล่อยสายเด้งไปตีกับเฟรต (Fret)
.
ความโด่งดังของบทเพลงมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 1993 เมื่อจอห์น วิลเลียมส์ (John Williams) ออสเตรเลียนกีตาร์คลาสสิกเบอร์ใหญ่แห่งเกาะอังกฤษ นำเพลงมาบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตในเมืองเซบียา ประเทศสเปน
.
ดุดันไม่เกรงใจใคร
.
ยังมีบทเพลงที่ยังไม่ได้กล่าวถึงอีกมากมาย เช่น The Fall of Birds (1978), The Porcelain Tower (1981) หรือเหล่างานเพลงสำหรับบรรเลงคู่ บรรเลงกลุ่ม และคอนแชร์โต ปัจจุบันในวัย 67 ปี แม้จะอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แต่คอชคินยังคงเคลื่อนไหวกิจกรรมทางดนตรีผ่านโซเชียลมีเดียอยู่เป็นครั้งคราว
.
คอชคินไม่เพียงแต่มุ่นเน้นสร้างงานเพลงที่เร้าอารมณ์ หรือใช้เสียงประสานในแบบที่เราไม่คุ้นเคย แต่คอชคินยังพยายามแสวงหาสุ้มเสียงที่เหนือจินตนาการ หรือเกินขอบเขตที่ไม่คิดว่าศักยภาพของกีตาร์คลาสสิกจะไปถึงได้
.
Writer : Literary Boy
.
[1] http://physiology.med.unc.edu/.../nikita_koshkin_bio.html
[2] https://www.naxos.com/Bio/Person/Nikita_Koshkin/21826
[3] https://www.classicalconnect.com/composer/nikita-koshkin
[4] https://www.last.fm/music/Nikita+Koshkin/+wiki