Manuel de Falla ผู้บรรเลงกีตาร์ผ่านวงออเคสตรา: ประกีตาร์คลาสสิค

กว่าดนตรีสเปนจะทรงอิทธิพลต่อโลกดนตรีคลาสสิกได้เหมือนปัจจุบัน ต้องขอบคุณเหล่านักประพันธ์ชาวสเปนในอดีต ที่เผยแพร่อัตลักษณ์ประจำชาติผ่านงานประพันธ์จนกลายเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และหากยกตัวอย่างนักประพันธ์ผู้มีบทบาทต่อการฟื้นฟูดนตรีพื้นเมืองสเปน ‘มานูเอล เดอ ฟายยา’ (Manuel de Falla, 1876-1946) ถือเป็นชื่อที่ควรกล่าวถึง
.
แม้จะเป็นนักประพันธ์ที่มีผลงานเพลงเพียงหยิบมือ แต่การมีใบหน้าปรากฏบนธนบัตรสเปนในปี 1970 ถือเป็นภาพสะท้อนถึงความสำคัญที่เขามีต่อการสร้างชาติในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และการเคลื่อนไหวของเขายังมีส่วนทำให้เกิดกระแสนิยมในกีตาร์คลาสสิกด้วยเช่นกัน
.
กาดิช มาดริด ปารีส
.
ณ ตอนใต้สุดของแคว้นอันดาลูเซีย เมืองกาดิช (Cadiz) เป็นสถานที่เกิดของ ‘มานูเอล ฟายยา’ [ภายหลังเปลี่ยนเป็น มานูเอล เดอ ฟายยา] เปียโนคือเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่เขาเริ่มเรียน และการชมคอนเสิร์ตในงานเพลงของคีตกวีชาวนอร์เวย์ ‘เอ็ดหวาด กริกก์’ (Edvard Grieg, 1843-1907) ทำให้เขาตระหนักอย่างรู้ซึ้งได้ว่า ‘อาชีพนักดนตรี คือสิ่งที่เขาต้องการจะเป็น’
.
เมื่ออายุ 20 ปี ครอบครัวจึงย้ายมายังกรุงมาดริด เมืองหลวงซึ่งทำให้เขาได้เข้าศึกษาในโรงเรียนดนตรี และได้เจอกับอาจารย์ผู้ซึ่งจะมีอิทธิพลต่องานประพันธ์ของเขาในอนาคต ‘เฟลิเป เปเดรล’ (Felipe Pedrell, 1841-1922)
.
เปเดรล เป็นนักวิชาการที่มีความสนใจด้านดนตรีพื้นเมืองสเปน โดยเป็นผู้นำการฟื้นฟูดนตรีสเปนช่วงศตวรรษที่ 19 และเหล่าลูกศิษย์ของเขา อาทิ ‘ไอแซค อัลเบนิส’ (Isaac Albéniz, 1860-1909) ‘เอนริเก กรานาดอส’ (Enrique Granados, 1867-1916) รวมถึงฟายยา ได้ซึมซับอิทธิพลดนตรี และส่งต่อมายังงานประพันธ์ของเหล่าลูกศิษย์
.
ราวปี 1904 ฟายยาแจ้งเกิดด้วยผลงานโอเปรา La vida breve (Life is Short) แม้บทเพลงจะได้รางวัลชนะเลิศ แต่กลับไม่มีผู้ใดสนใจนำบทเพลงไปจัดแสดง เมื่อไม่สามารถหางานแสดงได้ ปี 1907 ฟายยาจึงแสวงหาโอกาสโดยการเดินทางไปยังดินแดนอันรุ่งเรืองด้านวัฒนธรรมและดนตรี
.
7 ปี ณ ปารีส เป็นช่วงเวลาที่นักประพันธ์จากกาดิช ซึมซับอิทธิพลดนตรีอันสดใหม่จากกลุ่มศิลปินแนวหน้า อาทิ ‘อีกอร์ สตราวินสกี’ (Igor Stravinsky) กลุ่มผู้นำอิมเพรสชันนิส (Impressionists) ‘โคลด เดอบุสซี’ (Claude Derbussy) ‘มอริส ราเวล’ (Maurice Ravel) การพบปะกลุ่มคนเหล่านี้ ทำให้ไอเดียการแต่งเพลงของฟายยาถึงจุดสูงสุด เขาเปิดรับทุกแนวดนตรี ขณะเดียวกันยังตระหนักถึงคุณค่าของดนตรีพื้นเมืองสเปนเช่นกัน ฟายยาได้รับพระราชทานทุนทรัพย์จากกษัตริย์อัลฟองโซที่ 13 แห่งสเปน ทำให้เขาได้อยู่ปารีสต่อจนสามารถเขียนงานประพันธ์จนแล้วเสร็จ ก่อนจะกลับมาดริดในปี 1914 จากการปะทุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
.
กรานาดา และวิกฤตบ้านเมือง
.
แม้จะอยู่ในภาวะสงคราม แต่ฟายยากลับโด่งดังด้วยผลงาน La vida breve ต่อมาในวัย 45 ปี ฟายยาย้ายมาอาศัยยังเมืองกรานาดา (Granada) โดยเป็นช่วงเวลาที่เขาได้ประพันธ์ผลงานสำคัญ ได้จัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ดนตรีพื้นเมือง และได้อยู่ร่วมกับมิตรสหายนักกวี ‘เฟเดริโอ กาเซีย โลคา’ (Federico García Lorca) จนกระทั่งช่วงเวลาแห่งความยากลำบากได้มาถึง เมื่อไฟสงครามกลางเมืองสเปนปะทุขึ้นราวปี 1936 โลคาผู้มีแนวคิดเสรีนิยม ถูกประหารชีวิตโดยกลุ่มเผด็จการ และเมื่อสงครามสิ้นสุดในปี 1939 ฟายยาจึงลี้ภัยไปยังอาร์เจนตินาในปีเดียวกัน
.
เครื่องมือทางการเมือง และบั้นปลายชีวิตในต่างแดน
.
มีความพยายามจากจอมเผด็จการ ‘ฟรานซิสโก ฟรังโก’ (Francisco Franco) ในการหว่านล้อมเพื่อนำตัวฟายยากลับสเปน ในฐานะนักประพันธ์เพลงแนวชาตินิยม ฟายยาถูกนำชื่อไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหลายครั้ง ซึ่งตรงข้ามกับอุดมการณ์ของเขา ที่ดนตรีต้องอยู่เหนือการเมือง บทเพลงของฟายยาล้วนไม่ได้มีเจตนาใดแอบแฝงนอกเสียจากการคงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ของดนตรีสเปน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อเสนอมากมายทั้งสวัสดิการและยศถาบรรดาศักดิ์ ฟายยาปฏิเสธทุกข้อเสนอและเลือกอยู่ที่อาร์เจนตินาจนวาระสุดท้าย
.
ฟายยาใช้เวลาช่วงบั้นปลายชีวิตไปกับการสอนหนังสือ ประพันธ์เพลง และอาศัยอยู่ในบ้านพักบนภูเขาโดยมีน้องสาวคอยเคียงข้าง ฟายยาจากไปด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นในปี 1946 อัฐิถูกส่งกลับบ้านเกิดและฝังในมหาวิหารกาดิซ
.
แม้บทประพันธ์ส่วนใหญ่จะเป็นงานออเคสตราและบรรเลงเดี่ยวเปียโน มีงานเพลงสำหรับกีตาร์เพียงไม่กี่ชิ้น อาทิ Hommage à Debussy แต่สิ่งที่ทำให้จำเป็นต้องกล่าวถึงฟายยา คือบทบาทที่เขามีต่อกีตาร์คลาสสิก ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้เครื่องดนตรีชิ้นนี้ กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในยุคทองของอังเดรส เซโกเวีย (Andrés Segovia, 1893–1987)
.
ผู้บรรเลงกีตาร์ผ่านจิตวิญญาณแห่งสเปน
.
ย้อนกลับไปยังช่วงสามปีที่เรียนกับเปเดรล นอกจากการเป็นนักวิชาการ นักประพันธ์ และอาจารย์ อีกหนึ่งบทบาทของเปเดรลคือ ‘การเป็นนักกีตาร์’ ซึ่งมีส่วนแนะนำให้ฟายยาได้ศึกษางานเพลงของนักดนตรีสเปนยุคเรเนสซองส์ (Renaissance) และบาโรก (Baroque) ทำให้ฟายยาได้รู้จักกับงานของ ‘ลุยส์ มิลาน’ (Luys Milan, 1500–1561) และ ‘กาสปาร์ ซานส์’ (Gaspar Sanz, 1640–1710) สองนักประพันธ์เพลงวิฮูลา (Vihuela) หนึ่งในเครื่องดนตรีบรรพบุรุษของกีตาร์
.
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้ว่าฟายยา อาจรับอิทธิพลสำเนียงกีตาร์มาจากช่วงเวลาที่เรียนกับเปเดรล ทำให้งานเพลงของเขาแม้จะไม่ได้บรรเลงด้วยกีตาร์ แต่ผู้ฟังสามารถได้ยินสำเนียงของเครื่องดนตรีหกสาย ราวกับฟายยาบรรเลงกีตาร์ผ่านงานประพันธ์ออเคสตราและงานบรรเลงเดี่ยวเปียโนของเขา
.
ขณะเดียวกัน ความโด่งดังของฟายยาซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น 'กระแสชาตินิยมคลื่นลูกที่สอง' ยังได้สร้างความนิยมให้กับดนตรีสเปน และกลายเป็นหนึ่งในผลพลอยได้ที่ทำให้เกิดยุคทองของกีตาร์คลาสสิกด้วยเช่นกัน
.
หรืออาจสรุปเรื่องราวทั้งหมดได้ทำนองว่า
.
‘หากไม่มีกีตาร์ อาจไม่มีฟายยา และหากไม่มีฟายยา อาจไม่มีกีตาร์’
.
Writer : Literary Boy